วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555




ความหมายและบทบาทของระบบสารสนเทศ     ระบบสารสนเทศ (Information System หรือ IS) คือระบบแบบเฉพาะเจาะจงชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มของส่วนประกอบพื้นฐานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกันในการเก็บ (นำเข้า), จัดการ (ประมวลผล) และเผยแพร่(แสดงผล) ข้อมูลและสารสนเทศและสนับสนุนกลไกลของผลสะท้อนกลับ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศระบบสารสนเทศประกอบด้วย ส่วนหลักดังรูปที่ 3


รูปที่ 3 ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศ
 

    1. ส่วนที่นำเข้า (Inputs) ได้แก่การรวบรวมและการจัดเตรียมข้อมูลดิบ ส่วนที่นำเข้านี้สามารถมีได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการโทรเข้าเพื่อขอข้อมูลในระบบสอบถามเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่ลูกค้ากรอกในใบ สอบถามการให้บริการของร้านค้าฯลฯ ขึ้นอยู่กับส่วนแสดงผลที่ต้องการ ส่วนที่นำเข้านี้อาจเป็นขบวนการที่ทำด้วยตัวเองหรือเป็นแบบอัตโนมัติก็ได้ เช่นการอ่านข้อมูลรายชื่อสินค้าและรายราคาโดยเครื่องอ่าน บาร์โค้ดของห้างสรรพสินค้า จัดเป็นส่วนที่นำเข้าแบบอัตโนมัติ
   2. การประมวลผล (Processing) เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนและการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของส่วนแสดงผลที่มีประโยชน์ ตัวอย่างของการประมวลผลได้แก่การคำนวณ การเปรียบเทียบ การเลือกทางเลือกในการปฏิบัติงานและการเก็บข้อมูลไว้ใช้ในอนาคต โดยการประมวลผลสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือสามารถใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ระบบคิดเงินเดือนพนักงาน สามารถคิดได้จากการนำจำนวน ชั่วโมงการทำงานของพนักงานคูณเข้ากับอัตราค่าจ้างเพื่อให้ได้ยอดเงินรวมที่ต้องจ่ายรวม ถ้าชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์มากกว่า 40 ชั่วโมงอาจมีการคิดเงินล่วงเวลาให้ โดยเพิ่มเข้าไปกับเงินรวม จากนั้นอาจจะทำการหักภาษีพนักงาน โดยการนำเงินรวมมาคิดภาษีและนำเงินรวมมาลบด้วยภาษีที่คำนวณได้ จะทำให้ได้เงินสุทธิที่ต้องจ่ายให้กับพนักงาน
   3. ส่วนที่แสดงผล (Outputs) เกี่ยวข้องกับการผลิตสารสนเทศที่มีประโยชน์ มักจะอยู่ในรูปของเอกสาร หรือรายงานหรืออาจะเป็นเช็คที่จ่ายให้กับพนักงาน รายงานที่นำเสนอผู้บริหารและสารสนเทศที่ถูกผลิตออกมาให้กับผู้ถือหุ้น ธนาคาร หรือกลุ่มอื่นๆ โดยส่วนแสดงผลของระบบหนึ่งอาจใช้เป็นส่วนที่นำเข้าเพื่อควบคุมระบบหรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ได้ เช่นในขบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ พนักงานขาย ลูกค้า และ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์อาจจะทำการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยอาจจะใช้ซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบนี้ด้วย จนกระทั่งได้ต้นแบบที่ตรงความต้องการมากที่สุด จึงส่งแบบนั้นไปทำการผลิต จะเห็นว่าแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ได้จากการออกแบบแต่ละครั้งจะเป็นส่วนที่ถูกนำไปปรับปรุงการออกแบบในครั้งต่อๆ ไป จนกระทั่งได้แบบ สุดท้ายออกมา อาจอยู่ในรูปของสิ่งพิมพ์ที่ออกมาจากเครื่องพิมพ์หรือแสดงอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นอุปกรณ์แสดงผลตัวหนึ่งหรืออาจจะอยู่ในรูปของรายงานและเอกสารที่เขียนด้วยมือก็ได้
   4. ผลสะท้อนกลับ (Feedback) คือส่วนแสดงผลที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อส่วนที่นำเข้าหรือส่วนประมวลผล เช่น ความผิดพลาดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขข้อมูลนำเข้าหรือทำการเปลี่ยนแปลงการประมวลผลเพื่อให้ได้ส่วนแสดงผลที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ถ้าทำการป้อนชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์เป็น 400 แทนที่จะเป็น 40 ชั่วโมง ถ้าทำการกำหนดให้ระบบตรวจสอบค่าชั่วโมงการทำงานให้อยู่ในช่วง 0-100 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อพบข้อมูลนี้เป็น 400 ชั่วโมง ระบบจะทำการส่งผลสะท้อนกลับออกมา อาจจะอยู่ในรูปของรายงานความผิดพลาด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบและแก้ไขจำนวนชั่วโมงการทำงานที่นำเข้ามาคำนวณให้ถูกต้องได้

ตัวอย่าง เช่น ระบบล้างรถอัตโนมัติ
ระบบสารสนเทศประกอบด้วย ส่วนหลักดังรูปที่ 3



   ส่วนที่นำเข้า คือ รถที่สกปรก น้ำ และน้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในการล้างรถ เวลาและพลังงานถูกใช้ในการปฏิบัติการล้างรถ ทักษะได้แก่ความสามารถเฉพาะอย่างจะถูกนำมาใช้ในการฉีดสเปรย์ ขัดโฟม และเป่าแห้ง ความรู้ถูกนำมาใช้ในการกำหนดขั้นตอนการทำงานของการล้างรถให้ทำงานไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
   การประมวลผล ประกอบด้วย ขั้นที่หนึ่ง การเลือกประเภทการล้างรถที่ต้องการ เช่น ล้างอย่างเดียว ล้างและขัดเงา ล้างและขัดเงาและเป่าแห้งฯลฯ และขั้นต่อไปทำการนำรถเข้าไปในเครื่องล้างรถ (สังเกตว่าในส่วนนี้จะเกิดกลไกของผลสะท้อนกลับขึ้น ได้แก่การประเมินผลของเจ้าของรถที่มีต่อขบวนการล้างรถที่กำลังเกิดขึ้น) จากนั้นของฉีดของเหลวจะฉีดน้ำ สบู่เหลว หรือครีมขัดเงาไปที่รถ ขึ้นอยู่กับตัวเลือกที่เลือกไว้ในตอนต้น
    ส่วนที่แสดงผล คือรถที่สะอาดแล้ว
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าส่วนประกอบอิสระต่างๆ ในระบบล้างรถอัตโนมัติ เช่นเครื่องฉีดของเหลว แปลงสำหรับทางโฟม และเครื่องเป่าแห้ง ทำงานโต้ตอบกัน เพื่อให้รถสะอาดนั่นเอง
ระบบสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Based Information Systems : CBIS)
    ระบบสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ (Hardware), ซอฟต์แวร์ (Software), ข้อมูล(Data), บุคคล (People), ขบวนการ (Procedure) และการสื่อสารข้อมูล (Telecommunication) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำการรวบรวม, จัดการ จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ รูปที่ 4 แสดงส่วนประกอบของระบบ สารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์



รูปที่ 4 ส่วนประกอบของสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์
 


1. ฮาร์ดแวร์ คืออุปกรณ์ทางกายภาพ ที่ใช้ในการรวบรวม การนำเข้า และการจัดเก็บข้อมูล, ประมวลผล ข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ และแสดงสารสนเทศที่เป็นผลลัพธ์ออกมา
2. ซอฟต์แวร์ ประกอบด้วยกลุ่มของโปรแกรมที่ใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับฮาร์ดแวร์และใช้ในการประมวลผลข้อมูลเป็นสารสนเทศ
3. ข้อมูล ในส่วนนี้หมายถึงข้อมูลและสารสนเทศที่ถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูล โดยฐานข้อมูล (Database) หมายถึงกลุ่มของค่าความจริงและสารสนเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันนั่นเอง
4. บุคคล หมายถึงบุคคลที่ใช้งานและปฏิบัติงานร่วมกับระบบสารสนเทศ
5. ขบวนการ หมายถึงกลุ่มของคำสั่งหรือกฎ ที่แนะนำวิธีการปฏิบัติงานกับคอมพิวเตอร์ในระบบสารสนเทศ ซึ่งอาจได้แก่การแนะนำการควบคุมการเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์, วิธีการสำรองสารสนเทศในระบบและวิธีจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
6. การสื่อสารข้อมูล หมายถึงการส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อสื่อสาร และช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมระบบคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบเครือข่าย (Network) ที่มีประสิทธิภาพได้ โดยเครือข่ายใช้ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไว้ด้วยกัน อาจจะเป็นภายในอาคารเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน หรือทั่วโลก เพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้


ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหาร
    ระบบสารสนเทศที่มีการจัดการกับสารสนเทศและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารให้เกิดประสิทธิผล เรียกว่าระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการ บริหาร โดยเน้นเรื่องการสนับสนุนการตัดสินใจในระดับการจัดการระดับต่างๆ ไม่เน้นที่การประมวลข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการทางธุรกิจและเน้นที่โครงร่างของระบบควรจะถูกใช้ในการ จัดการการใช้งานระบบสารสนเทศ รูปที่ 5 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารและระดับของการจัดการ



รูปที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหาร และระดับของการจัดการ
 

บทบาทของการจัดการในองค์กร
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ สนับสนุนบทบาทในการจัดการของผู้บริหาร ดังนี้
1.การวางแผน (Plan) หมายถึง การกำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการบริหารองค์กร
2. การจัดการ (Organize) หมายถึง การจัดสรรทรัพยากรที่ต้องการนำมาใช้ในองค์กร
3. การเป็นผู้นำ (Lead) หมายถึง การกระตุ้นพนักงาน เพื่อให้ปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมาย
4. การควบคุม (Control) หมายถึง การควบคุมดูแล เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าไปยังเป้าหมายที่วางไว้
    จากบทบาทในการจัดการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สารสนเทศจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในการที่ผู้บริหารจะดำเนินงานเหล่านี้ให้สำเร็จ เช่น สารสนเทศเกี่ยวกับการขาย, การผลิตและการเงิน เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ควบคุมการปฏิบัติงานรายวันขององค์กร การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะต้องเป็นไปตามการจัดองค์กรและกลยุทธ์ขององค์กรนั้นๆ
    ผู้จัดการต้องเป็นผู้กระทำและจัดการพฤติกรรมขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่นการควบคุมองค์กรให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการทำงานหรือจะเป็นการตรวจสอบว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายงานไปนั้นสามารถปฏิบัติงานตามที่ต้องการได้หรือไม่ โดยอาจกำหนดให้มีการฝึกอบรมพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติงานนั้นๆ ผู้จัดการต่างๆ ต้องการสารสนเทศที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะนำไปใช้ในการทำงานของตน ดังนั้นในส่วนต่อไปจะอธิบายถึงความต้องการของสารสนเทศของการจัดการในระดับต่างๆ
ทำไมต้องเรียนระบบสารสนเทศ

ในทัศนะทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น เราเห็นว่า ข้อมูล คือตัวแทนของ โลกแห่งความเป็นจริง ตัวแทนที่แสดง ความเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลบุคลากร ของหน่วยงานแห่งหนึ่งก็คือ รายละเอียดอันเป็น ข้อความ ตัวเลข และภาพ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ที่เป็นพนักงานของหน่วยงานนั้น รายละเอียดนั้น จะมีมากน้อยเพียงใด ก็สุดแล้วแต่ว่า จะใช้แสดงเรื่อง ของบุคคลเหล่านั้น ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใด เช่น ข้อมูลบุคลากร โดยทั่วไปอาจจะไม่มี เรื่องเกี่ยวกับ สีของตา สีของผม หรือตำหนิบนร่างกาย แต่ข้อมูลของ ผู้ที่ต้องการขออนุญาต มีหนังสือเดินทาง จะต้องระบุข้อมูลเหล่านี้ หรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ก็อาจจะต้องมีรายการที่เกี่ยวกับ น้ำหนัก ส่วนสูง กลุ่มเลือด ความดันโลหิต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องอะไร หรือในด้านใด สิ่งที่สำคัญที่สุด ประการแรกก็คือ ข้อมูล สมบูรณ์ มากพอ ที่จะใช้อธิบายเรื่องนั้น ได้ครบถ้วนและ ถูกต้อง ข้อมูลโดยทั่วไปนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก แม้ว่าข้อมูลทุกรายการ จะมีความจำเป็น แต่ถ้าหากเราให้ข้อมูล ทุกรายการแก่ผู้รับ ก็ยังอาจจะทำให้ผู้รับ เกิดความสับสนได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่นถ้าหากนายแพทย์ ให้ข้อมูลทุกรายการ เกี่ยวกับผู้มาตรวจสุขภาพ โดยบอกตัวเลขเช่น ความดันโลหิต ชีพจร ระดับคลอเรสเตอรัล ระดับไตรกลีเซอไรน์ ระดับน้ำตาล ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจจะไม่มีความหมายใดๆ ต่อผู้รับมากนัก สู้บอกง่ายๆว่า "คุณมีสุขภาพแข็งแรง เป็นปกติดี" ไม่ได้ ข้อความที่นายแพทย์ แจ้งแก่ผู้มาตรวจสุขภาพ แบบนี้แหละ ที่ทางวงการคอมพิวเตอร์เรียกว่า สารสนเทศ หริอ information พิจารณาในแง่นี้ สารสนเทศ ก็คือ ผลสรุปที่ได้จาก การนำข้อมูลมาประมวล ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสรุปทางสถิติ การเปรียบเทียบ การจำแนก หรือ จัดกลุ่ม ฯลฯ อย่างในกรณีของ ข้อมูลการตรวจสุขภาพนั้น สารสนเทศที่นายแพทย์ แจ้งแก่ผู้ตรวจสุขภาพนั้น ได้มาจากการที่นายแพทย์ เปรียบเทียบข้อมูลตัวเลขต่างๆ กับค่าเฉลี่ย ที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ในวงการแพทย์ หากผู้ที่ไม่ใช่นายแพทย์ ได้รับข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นไป และผู้นั้น ไม่มีความรู้อะไรเลย เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยเหล่านี้ ผู้นั้นก็ย่อมไม่สามารถหาข้อสรุปเป็น สารสนเทศ ที่ถูกต้องได้ จากที่กล่าวมานี้ ทางวงการคอมพิวเตอร์จึงถือว่า ระบบสารสนเทศ คือระบบจัดเก็บข้อมูล ในด้านต่างๆ เอาไว้ แล้วนำข้อมูลมาประมวล ให้เป็นสารสนเทศ เพื่อส่งให้ผู้ใช้ ระบบสารสนเทศที่รู้จักกันดีก็คือ ระบบสารสนเทศ เพื่อการจัดการ (Management Information System หรือ MIS) ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร (Executive Information System หรือ EIS) ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System หรือ DSS) ระบบเหล่านี้นิยมพัฒนา และใช้กันมาก ในวงการบริหารจัดการ ทั้งทางภาคธุรกิจ และเอกชน สำหรับในงานวิจัยนั้น ระบบสารสนเทศ ที่ใช้กันมากนั้น ไม่ใช่ระบบที่กล่าวถึงชื่อมาแล้วข้างต้น แต่เป็นระบบที่เก็บข้อมูล ที่เกี่ยวกับ ข่าว หนังสือ วารสาร บทความวิจัย รายงานวิจัย ตลอดจนข้อมูลวิจัยอื่นๆ สำหรับให้ผู้ที่สนใจ สืบค้นหาเรื่องที่ตนต้องการทราบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศ สำหรับวงการบริหารจัดการ หรือ ระบบสารสนเทศเพื่องานวิจัย ความคล้ายคลึงกัน ประการหนึ่งก็คือ ระบบทั้งสองแบบนั้น ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ จัดทำสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ ข้อที่ควรทราบอีกประการหนึ่งก็คือ สารสนเทศ นั้น ยังไม่ใช่ผลสรุปสุดท้ายที่ตายตัว อาจเป็นไปได้ที่ หลังจากนายแพทย์ พิจารณาตัวเลข คลอเรสเตอรัลแล้ว บอกผู้มาตรวจสุขภาพว่าเป็นปกติ เพราะค่าที่วัด อยู่ภายในระดับปกตินั้น ไม่ช้าไม่นาน ผู้มาตรวจสุขภาพรายนั้น อาจมีอันเป็นไป เพราะไขมันอุดหลอดเลือดหัวใจก็ได้ หากเกิดเรื่อง เช่นนี้บ่อยครั้ง วงการแพทย์ก็อาจจะต้อง ศึกษาสารสนเทศเหล่านี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งได้ข้อสรุปขั้นสุดท้าย เป็น ความรู้ (Knowledge) นักคิดทางด้านคอมพิวเตอร์หลายคน มองเห็นว่า ความรู้ ก็ยังไม่ใช่ที่สุด ของสิ่งที่จะได้รับจากข้อมูล ดังนั้นจึงสรุปว่า หลังจากที่มนุษย์เรา ได้รับความรู้ในด้านต่างๆ มากขึ้นๆ จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งดีแล้ว ก็จะเกิด ผลสรุปขั้นสุดท้ายเป็น ปัญญา 

ประโยชน์ของระบบสารสนเทศ
ประสิทธิภาพ (Efficiency)

1) ระบบสารสนเทศทำให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้กระบวนการประมวลผลข้อมูลซึ่งจะทำให้สามารถเก็บรวบรวม ประมวลผลและปรับปรุง้อมูลให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์ที่ใช้ประจำบ้านมีขีดความสามารถในการทำงานถึง 450 ล้านคำต่อนาที (million instructions per second) (Haag et al.,2000:19)

2) ระบบสารสนเทศช่วยในการจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณมากและช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูล (access) เหล่านั้นมีความรวดเร็วด้วย

3) ช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว การใช้เครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ทำให้มีการติดต่อได้ทั่วโลกภายในเวลาที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกัน (machine to machine) หรือคนกับคน (human to human) หรือคนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ (human to machine) และการติดต่อสื่อสารดังกล่าวจะทำให้ข้อมูลที่เป็นทั้งข้อความ เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวสามารถส่งได้ทันที

4) ช่วยลดต้นทุน การที่ระบบสารสนเทศช่วยทำให้การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลซึ่งมีปริมาณมากมีความสลับซับซ้อนให้ดำเนินการได้โดยเร็ว หรือการช่วยให้เกิดการติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนการดำเนินการอย่างมาก

5) ระบบสารสนเทศช่วยทำให้การประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีโดยเฉพาะหาระบบสารสนเทศนั้นออกแบบเพื่อเอื้ออำนวยให้หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกที่อยู่ในระบบของซัพพลายทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และทำให้การประสานงาน หรือการทำความเข้าใจเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น (Turban et al.,2001)
ประสิทธิผล (Effectiveness)

1) ระบบสารสนเทศช่วยในการตัดสินใจ ระบบสารสนเทศที่ออกแบบสำหรับผู้บริหาร เช่น ระบบสารสนเทศที่ช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision support systems) หรือระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (Executive support systems) จะเอื้ออำนวยให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น อันจะส่งผลให้การดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ไว้ได้

2) ระบบสารสนเทศช่วยในการเลือกผลิตสินค้า/บริการที่เหมาะสมระบบสารสนเทศจะช่วยทำให้องค์การทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ราคมในตลาดรูปแบบของสินค้า/บริการที่มีอยู่ หรือช่วยทำให้หน่วยงานสามารถเลือกผลิตสินค้า/บริการที่มีความเหมาะสมกับความเชี่ยวชาญ หรือทรัพยากรที่มีอยู่

3) ระบบสารสนเทศช่วยปรับปรุงคุณภาพของสินค้า / บริการให้ดีขึ้นระบบสารสนเทศทำให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานและลูกค้า สามารถทำได้โดยถูกต้องและรวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงช่วยให้หน่วยงานสามารถปรับปรุงคุณภาพของสินค้า/บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย

4) ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)ปัจจุบัน ระบบสารสนเทศได้มีการนำมาให้ตลอดทั้งระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

5 ) คุณภาพชีวิตการทำงาน (Quality of Working Life) ระบบสารสนเทศจะต้องได้รับการออกแบบออกมาเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีด้วย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น